วันเสาร์ที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


ก็องดิด (Candide) นวนิยายแนวปรัชญา ของวอลแตร์ นักประพันธ์และนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เขาเริ่มเขียนปรัชญานิยาย (le conte philosophique) เรื่องนี้ในรูปแบบของร้อยแก้วในเชิงเสียดสีที่ใช้คำพูดที่มีความหมายขัดแย้งกันในปี ค.ศ. 1758 ซึ่งเขาอายุได้ 64 ปีแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่า "ก็องดิดด์" เป็นผลงานของบุคคลที่พร้อมด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิอย่างแท้จริง
ก่อนหน้านี้วอลแตร์เคยเขียนบทกวี บทละคร บทความเชิงปรัชญา หนังสือประวัติศาสตร์ และเป็นราชบัณฑิต เขามีประสบการณ์ชีวิตที่โชกโชน เคยติดคุก เคยถูกเนรเทศ เคยมีชื่อเสียงเกียรติยศแล้วกลับตกต่ำในราชสำนักปารีส ราชสำนักเบอร์ลิน ประสบการณ์ชีวิตที่ผกผัน การเดินทาง การได้เห็น ได้อ่าน ได้ศึกษามามากทำให้วอลแตร์ไม่อาจมองโลกในแง่ดีได้ เขาจึงเขียนผลงานชิ้นนี้ออกมาเพื่อแสดงความคิดเห็นของเขาลงไป โดยอาศัยนิยายเป็นสื่อกลางในการนำเสนอ นิทานปรัชญาเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1759 และตีพิมพ์อีกครั้งในปี ค.ศ. 1961 ซึ่งวอลแตร์ได้เพิ่มชื่อที่สองให้ก็องดิดด์ ว่า l'optimisme หรือลัทธิสุทรรศนิยม เพื่อเสียดสีบุคคลที่เชื่อตาม ไลบ์นิซ (Leibnitz) นักปราชญ์ชาวเยอรมันที่เชื่อว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระเจ้าประทานมาเป็นไปด้วยดี"

ก็องดิดด์ เรื่องย่อ
วอลแตร์แต่งปรัชญานิยายเรื่องก็องดิดด์ขึ้นโดยใช้รูปแบบร้อยแก้วเชิงเสียดสี ใช้เทคนิคการบรรยายแบบ 'l'ironie' ที่ใช้คำพูดที่มีความหมายขัดแย้งกันอย่างรุนแรงกับเนื้อเรื่องที่เกิดขึ้น

โครงสร้างของเรื่อง
เนื่องจากเนื้อหาเรื่องนี้เป็นการเดินทางของตัวละคร ที่เดินทางไปตามที่ต่าง ๆ ดังนั้นการดำเนินเรื่องจึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในทวีปยุโรปไปจนถึงทวีปอเมริกาใต้ สถานที่ก็จะมีทั้งที่มีอยู่จริงและสถานที่ที่วอลแตร์จินตนาการขึ้นมา เช่น เมืองเอลโดราโดและเมืองอื่น ๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
ในเรื่องนี้ วอลแตร์ได้กล่าวโจมตีเสียดสีสิ่งต่าง ๆ ไว้มากมาย เขาได้แสดงทัศนะทางสังคมออกมา ไม่เฉพาะแค่สังคมฝรั่งเศสเท่านั้น แต่รวมไปถึงสังคมยุโรปโดยทั่วไป โดยใช้รูปแบบการประชดประชัน เสียดสี วอลแตร์เสียดสีและต่อต้านความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ และยังบรรยายให้เห็นภาพความตายอย่างชัดเจนที่เป็นผลมาจากการทำสงครามแย่งอาณานิคม นอกจากนี้วอลแตร์ยังประชดประชันทัศนะทางปรัชญาที่สอนให้คนมองโลกในแง่ดีอยู่ตลอดเวลาทั้ง ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง วอลแตร์ยังได้โจมตีสถาบันทางศาสนาในเรื่องความเชื่อที่งมงาย ไร้สาระ โจมตีพระที่ไม่มีคุณธรรมและจริยธรรม ในเรื่องความเชื่อ วอลแตร์เชื่อว่าพระเจ้าไม่มีเหตุผล ในด้านสังคมการเมือง เขาโจมตีชนชั้นขุนนางว่าไม่จริงใจ
ในบทสรุปของเนื้อเรื่อง วอลแตร์ได้เสนอคำพูดที่ว่า 'Il faut cultiver notre jardin' เพื่อแสดงทัศนะของเขาที่เรียกร้องให้ทุกคนทำงานและทำตัวเป็นประโยชน์ต่อสังคม เนื่องจากเขาต้องการสะท้อนให้เห็นเรื่องค่านิยมของคนในสมัยนั้นที่เชื่อว่าพวกชนชั้นสูง เช่น พวกขุนนาง และพระ ที่ไม่ต้องทำงาน เพราะจะเป็นการเสียเกียรติ โดยในที่นี้วอลแตร์ได้เสนอการทำกสิกรรม เนื่องจากเขาได้รับแนวความคิดมาจากพวกชาวบ้านที่ทำกสิกรรมอยู่บริเวณที่ใกล้กับที่ดินที่เขาได้ไปซื้อไว้ โดยที่เขาคิดว่าควรเริ่มจากครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม เมื่อทุกคนทำงานแล้ว ผลแห่งการทำงานนั้นย่อมครอบคลุมไปยังหน่วยของสังคมที่ใหญ่ขึ้น เช่น หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เป็นต้น และในอีกแง่หนึ่งที่วอลแตร์เสนอก็คือ ให้ทุกคนทำงานโดยไม่มัวแต่พร่ำเพ้ออ้างเหตุผลลอย ๆ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ เขาคิดว่ามนุษย์เกิดมาเพื่อกระทำมิใช่พูดหรือคอยใช้เหตุผลอย่างเดียว จากคำพูดนี้แสดงให้เห็นว่าวอลแตร์ไม่ได้มีความเชื่อในพระเจ้าเลย เขาเชื่อว่ามนุษย์ต่างหากที่เป็นผู้กำหนดทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวของตัวเอง

ตัวละครสำคัญ

  • ก็องดิดด์ - มีความหมายหลายนัย เช่น ซื่อ บริสุทธิ์ จริงใจ เปิดเผย อ่อนต่อโลก ความหมายหลายนัยนี้แสดงถึงอุปนิสัยของตัวละครเอก ดังนั้นความหมายหลายนัยของชื่อก็องดิดด์ ทำหน้าที่เชิงสัญลักษณ์แห่งความเชื่อง่ายของคนร่วมสมัยกับวอลแตร์ซึ่งเชื่อตามทฤษฎีสุทรรศนิยมของไลบ์นิซ ที่ว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระเจ้าประทานมาเป็นไปด้วยดี" สิ่งนี้ทำให้วอลแตร์หัวเราะเยาะบุคคลที่เชื่อง่ายเหล่านั้น


    • อาจารย์ปองโกลศ – เป็นอาจารย์ที่สอนให้ก็องดิดด์และกุเนก็องด์มองโลกในแง่ดี ตามลัทธิสุทรรศนิยมของไลบ์นิซ ปองโกลศมองโลกในแง่ดีเสมอ ถึงแม้ว่าตัวเขาเองก็ได้พบกับความทุกข์และภัยพิบัติมากมาย


      • กุเนก็องด์ - เป็นลูกสาวของท่านบารอนรอนธุนแดร์-เตน-ทรองค์ เป็นหญิงงามที่ก็องดิดด์หลงรัก


        • มาร์แต็ง – เป็นนักปราชญ์ที่มีความคิดที่ตรงข้ามกับปองโกลศโดยสิ้นเชิง กล่าวคือมาร์แต็งเป็นคนที่สอนให้ก็องดิดด์มองโลกในแง่ร้าย ทำให้ก็องดิดด์ได้เรียนรู้อภิปรัชญาที่ตรงข้ามกับคำสอนของอาจารย์ปองโกลศ
          กะกอมโบ – เป็นคนรับใช้และเพื่อนผู้ซื่อสัตย์ของก็องดิดด์

ไม่มีความคิดเห็น: